ประวัติความเป็นมา
ศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
ประวัติความเป็นมาของ ศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการฝึกศึกษา อบรม กำลังพลในสายวิทยาการอากาศโยธิน ที่ผ่านมานั้น เดิมเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ด้านการฝึกศึกษา กระจายอยู่ตามหน่วยขึ้นตรงต่างๆ ของกรมอากาศโยธิน ไม่ได้รวมอยู่ในหน่วยงานเดียวกัน แต่หลักฐานที่ปรากฏชัดเจนเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับดังนี้.-
พ.ศ.๒๔๙๑
ได้มีการจัดตั้งกองการศึกษาทหารส่งทางอากาศ (อัตรากองทัพอากาศ พ.ศ.๒๔๙๑) ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (พิเศษ) ที่ ๔๙/๑๙๑๒๗ ลง ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๑ เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมอากาศโยธิน
พ.ศ.๒๔๙๔
ได้มีคำสั่งผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่ ๑๓๒๓๔/๒๔๙๔ ลง ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๙๔ ให้ยุบเลิกกิจการของกรมอากาศโยธิน จึงทำให้ส่วนราชการด้านการศึกษาถูกยุบเลิกไปด้วย แต่การยุบเลิกกิจการตามคำสั่ง ฯ ดังกล่าว เป็นการยุบเลิกแต่เพียงกิจการ ส่วนอัตรากำหนดเจ้าหน้าที่ของกรมอากาศโยธินตามอัตราการจัดกำลังพลกองทัพอากาศ พ.ศ.๒๔๙๑ ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิมโดยมิได้มีการแก้ไขแต่อย่างใด
พ.ศ.๒๔๙๖
ได้มีการประกาศใช้อัตรากองทัพอากาศ พ.ศ.๒๔๙๕ ซึ่งเรียกว่า ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยกำหนดกำลังเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศในเวลาปกติ พ.ศ.๒๔๙๕ ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (พิเศษ) ที่ ๑๒/๒๐๐๙ ลง ๒๘ มกราคม ๒๔๙๖ ให้จัดตั้งส่วนราชการกรมอากาศโยธินอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีหน่วยที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการศึกษาได้แก่ แผนกทหารราบและแผนกต่อสู้อากาศยาน เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ กรมอากาศโยธิน
พ.ศ.๒๔๙๘
ได้มีการปรับปรุงอัตรากองทัพอากาศอีกครั้งหนึ่ง ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ ๑๔/๓๙๖๓ ลง ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ ซึ่งมีหน่วยที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการศึกษาได้แก่
- กองการทหารราบ มี นาวาอากาศเอก ขุนถิระรณรงค์ เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าทีควบคุมศึกษาและวิจัยในสายวิทยาการของทหารราบ และเสนอแนะข้อบกพร่องและสิ่งที่ควรแก้ไขในกิจการทหารราบ
- กองต่อสู้อากาศยาน มี นาวาอากาศโท แขม กุญชร ณ อยุธยา เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ควบคุมศึกษาและวิจัยในสายวิทยาการทหารต่อสู้อากาศยาน และเสนอแนะข้อบกพร่องและสิ่งที่ควรแก้ไข ในกิจการทหารต่อสู้อากาศยาน
- แผนกศึกษาทหารส่งทางอากาศ มี เรืออากาศเอกวิเทพ จิตตะเสนีย์ เป็นผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชา ฝึกอบรมศึกษาแก่ทหารส่งทางอากาศ ค้นคว้าวิจัยข้อบกพร่องและสิ่งที่ควรแก้ไข เพื่อเสนอแนะผู้บังคับบัญชา อันเกี่ยวกับด้านวิทยาการของทหารส่งทางอากาศ
- โรงเรียนจ่าอากาศกองประจำการ มี นาวาอากาศตรี สุวัตถิ์ สุวรรณทัต เป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ปกครองฝึกอบรม และศึกษาให้แก่ทหารกองประจำการ ที่ทางราชการส่งเข้ามารับการอบรมและศึกษาเพื่อให้ทหารกองประจำการที่สำเร็จการศึกษาแล้ว สามารถเป็นผู้ช่วยครูในการฝึกได้ ตลอดจนการค้นคว้าข้อบกพร่อง และแก้ไขในการที่จะฝึกอบรมพลทหารกองประจำการเพื่อเป็นจ่าอากาศตรีกองประจำการ ตลอดจนเปิดอบรมจ่าอากาศเหล่าทหารอากาศโยธิน เพื่อเลื่อนฐานะเป็นพันจ่าอากาศ
พ.ศ.๒๔๙๙
การจัดส่วนราชการของกรมอากาศโยธินไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด คงใช้อัตราเช่นเดียวกันกับ พ.ศ.๒๔๙๘ ทุกประการ แต่มีการปรับเปลี่ยน ผู้บังคับบัญชาของกองต่อสู้อากาศยาน คือ นาวาอากาศเอก แขม กุญชร ณ อยุธยา ได้ย้ายไป ทางราชการได้ย้าย นาวาอากาศเอก จำลอง มานิตย์ ประจำกองบัญชาการกองทัพอากาศมาเป็นหัวหน้ากองต่อสู้อากาศยาน กรมอากาศโยธิน
พ.ศ.๒๕๐๕
การจัดอัตรากำลังพลในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๕๐๕ ถึงวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ได้จัดอัตรากำลังพล ตามอัตรากองทัพอากาศ พ.ศ.๒๔๙๘ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๕ การแบ่งส่วนราชการของกองทัพอากาศ ตามพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการและกำหนดเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการกองทัพอากาศ กองบัญชาการทหารสูงสุด กระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งประกาศใช้เมื่อ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๐๕ เฉพาะกรมอากาศโยธินซึ่งผู้บังคับบัญชาชั้นสูงในปีนั้น ได้แก่
พลอากาศตรี สุรยุธ รุ่งสว่าง เป็น ผู้บังคับการกรมอากาศโยธิน
นาวาอากาศเอก มานะ สังขวิจิตร เป็น รองผู้บังคับการกรมอากาศโยธิน
นาวาอากาศเอก บุญเปรียบ ดวงอุไร เป็น เสนาธิการกรมอากาศโยธิน
นาวาอากาศโท กฤตยา สังขพิชัย เป็น หัวหน้ากองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน คนแรก
พ.ศ.๒๕๐๖
กรมอากาศโยธินได้เปลี่ยนแปลงการจัดส่วนราชการใหม่ (อัตรากองทัพอากาศ พ.ศ.๒๕๐๖) ตามคำสั่งกองทัพอากาศ (เฉพาะ) ลับที่ ๙/๐๖ ลง ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ (ทั้งนี้ ตั้งแต่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๐๖) โดยให้ กองวิทยาการ เป็นหน่วยรับผิดชอบด้านการศึกษา ในสายวิทยาการอากาศโยธิน ขึ้นตรงต่อกรมอากาศโยธิน มีที่ตั้งร่วมกับกองพันอากาศโยธิน ๑ อยู่บริเวณด้านหน้าถนนพหลโยธิน จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๒ มีหน่วยขึ้นตรง ๔ หน่วย คือ แผนกทหารราบ แผนกทหารต่อสู้อากาศยาน แผนกศึกษาและวิจัย และโรงเรียนเหล่าทหารอากาศโยธิน ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๐๕ เป็นต้นมา กองวิทยาการ ได้มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาหน่วยและมีการย้ายที่ตั้งดังนี้ ในปี พ.ศ.๒๕๑๓ ได้ย้ายหน่วยไปรวมกับกองพันทหารอากาศโยธิน ๑ ซึ่งตั้งอยู่ ณ พื้นที่ฝั่งตะวันตก หัวสนามบินทิศใต้ ถนนวิภาวดีรังสิต
ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ได้ย้ายหน่วยมาอยู่ที่ ณ พื้นที่ทุ่งสีกัน เขตดอนเมืองและมีการแก้ไขเกี่ยวกับการจัดกำลัง ตามคำสั่งกองทัพอากาศ (เฉพาะ) ลับที่ ๑๕๑/๑๒๐ ลง ๒๖ กันยายน ๒๕๒๐ ดังนี้.-
- ปรับอัตราตำแหน่งหัวหน้ากองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน เดิมอัตรานาวาอากาศเอก แก้เป็น ผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน อัตรานาวาอากาศเอกพิเศษ
- ปรับอัตราตำแหน่งรองหัวหน้ากองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน เดิมอัตรานาวาอากาศโท แก้เป็น รองผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน อัตรานาวาอากาศเอก ในการอัตราตำแหน่งดังกล่าว ได้มีการแต่งตั้ง นาวาอากาศเอก สุเทพ ศรีดามา เป็นผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน คนแรก
พ.ศ.๒๕๓๙
ครั้นในปี พ.ศ.๒๕๓๙ ได้มีการแก้ไขอัตรากองทัพอากาศ พ.ศ.๒๕๐๖ ทั้งหมดและให้ใช้อัตรา กองทัพอากาศ พ.ศ.๒๕๓๙ แทน ตามคำสั่งกองทัพอากาศ (เฉพาะ) ที่ ๑๗๑/๓๙ ลง ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๓๙ (ทั้งนี้ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๙) ลงนามโดย พลอากาศเอกหม่อมราชวงศ์ ศิริพงษ์ ทองใหญ่ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กองวิทยาการ จึงได้เปลี่ยนนามหน่วยมาเป็น ศูนย์การทหารอากาศโยธิน ขึ้นตรงต่อ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ตั้งแต่นั้นมา
พ.ศ.๒๕๕๒
ในปี พ.ศ.๒๕๕๒ ได้มีการแก้ไขอัตรากองทัพอากาศ พ.ศ. ๒๕๓๙ ทั้งหมด และให้ใช้อัตรากองทัพอากาศ พ.ศ.๒๕๕๒ แทน ตามคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ ๑๐๑/๕๒ เรื่อง แก้ไขอัตรากองทัพอากาศ ลงนามโดย พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ทั้งนี้ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒) ซึ่งมีการปรับอัตราตำแหน่ง ผู้บังคับการศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เดิมอัตรานาวาอากาศเอกพิเศษ เป็นอัตรา พลอากาศตรี ปรับอัตราตำแหน่ง รองผู้บังคับการศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เดิม อัตรานาวาอากาศเอก เป็น อัตรานาวาอากาศเอกพิเศษ โดยให้ รองเสนาธิการ หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เป็น รองผู้บังคับการศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน โดยตำแหน่ง และปรับอัตราตำแหน่ง เสนาธิการ ศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เป็นนาวาอากาศเอกพิเศษและมีระดับหน่วยขึ้นตรง ศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เป็นหัวหน้ากอง อัตรานาวาอากาศเอก จำนวน ๕ กองโดยมี พลอากาศตรีชลิตเดช สุดมะโนกุล เป็น ผู้บังคับการศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
จากประวัติดังกล่าว กองวิทยาการ ได้จัดตั้งขึ้น เมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๕ และได้เปลี่ยนชื่อหน่วยมาเป็น ศูนย์การทหารอากาศโยธิน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ จึงถือได้ว่า วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ของทุกปี เป็น วันคล้ายวันสถาปนาศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน เนื่องจากเป็นวันที่จัดตั้งกองวิทยาการขึ้นเป็นครั้งแรก และเป็นการรวมหน่วยที่มีหน้าที่ด้านการศึกษาในสายวิทยาการอากาศโยธินเข้าเป็นหน่วยเดียวกัน
ประวัติพระพุทธรัตนมาลา

เมื่อปี ๒๕๒๕ พันจ่าอากาศเอกบุญธรรม พูนตาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลาธิการ โรงเรียนเหล่าทหารอากาศโยธินฯ ได้รับเศียรพระพุทธรูปจากพระคุณเจ้ารูปหนึ่ง ที่วัดดอนเมือง จึงได้นำมาไว้ที่ฝ่ายพลาธิการ โรงเรียนเหล่าฯ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๖ นาวาอากาศเอกไพบูลย์ ธารีเกษ ผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน ได้มาตรวจเยี่ยม ฝ่ายพลาธิการ โรงเรียนเหล่าฯ ได้พบเศียรพระพุทธรูปอยู่บนโต๊ะหมู่บูชา ก็เกิดศรัทธาปรากฏว่าน่าจะนำไปต่อองค์ให้เต็ม นาวาอากาศโทสุคนธ์ รักปทุม และพันจ่าอากาศเอก บุญธรรมฯ จึงได้นำเศียรพระพุทธรูปไปที่บ้านช่างหล่อ พรานนก ฝั่งธนบุรี ซึ่งเมื่อช่างฯ ได้เปิดตำราดูแล้ว เห็นว่ารูปลักษณ์เป็น ปางห้ามญาติ จึงได้ดำเนินการหล่อองค์ต่อกับเศียร จนเสร็จสมบูรณ์
หลังจากนั้น นาวาอากาศโทสุคนธ์ รักปทุม และคณะ ได้นำองค์พระที่หล่อติดเรียบร้อยแล้วนั้น ไปให้ ท่านเจ้าคุณเลิศ วัดอรุณราชวรารามฯ กทม.ทำการเบิกพระเนตร และตั้งพระนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธรัตนมาลา”
ขณะที่คณะฯ กำลังทำการอัญเชิญ “พระพุทธรัตนมาลา” กลับมายังกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน นั้น ปรากฏเหตุการณ์ ๒ อย่าง คือ เกิดฝนฟ้าคะนอง และรถยนต์ที่ไปอัญเชิญกลับ เกิดเครื่องยนต์ขัดข้องถึง ๒ คัน ต้องใช้รถคันที่ ๓ จึงสามารถอัญเชิญกลับมาได้ และในปี ๒๕๒๖ นาวาอากาศเอกไพบูลย์ ธารีเกษ ผู้อำนวยการกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน และข้าราชการ - ทหารกองประจำการ ได้ร่วมกันสร้างหอพระถวาย
ต่อมา ในปี ๒๕๓๑ “พระพุทธรัตนมาลา” ได้ถูกโจรกรรมไปจากหอพระ โดยไม่ทรายว่าเป็นฝีมือของใคร จนกระทั่ง ๖ เดือนต่อมา ขณะที่เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร กำลังตรวจสิ่งของที่จะส่งออกไปนอกประเทศอยู่นั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง ที่กำลังติดต่อราชการที่กรมศุลการกร ได้พบเห็นพระพุทธรูปองค์หนึ่งโดยบังเอิญ และจำได้ว่าเป็นพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ที่หอพระ กองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน เพราะตนได้เคยไปเล่นฟุตบอลอยู่เป็นประจำ จึงได้นำพระพุทธรูปองค์นี้มาไว้ที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล พญาไท และได้โทรศัพท์มาแจ้งยังกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน ให้มาตรวจสอบ
คณะของกองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน นำโดย นาวาอากาศเอกทองใบ แก้วเอี่ยม, พันจ่าอากาศเอกโสภณ เกษมุนี และข้าราชการอีกหลายคน ได้เดินทางไปที่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล พญาไท เมื่อได้เห็นพระพุทธรูปแล้ว ทุกคนต่างยืนยันว่าเป็น “พระพุทธรัตนมาลา” จริง จึงได้อัญเชิญกลับมายัง กองวิทยาการ กรมอากาศโยธิน ซึ่งปัจจุบันคือ ศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ได้เป็นที่เคารพสักการะของข้าราชการและทหารกองประจำการอีกครั้ง นับแต่นั้นมา
หมายเหตุ : ด้วยความเอื้อเฟื้อประวัติโดย พันจ่าอากาศเอกโสภณ เกษมุนี
ข้าราชการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน
สีและตราสัญลักษณ์ประจำศูนย์การทหารอากาศโยธิน
หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน

สีประจำศูนย์การทหารอากาศโยธิน หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ได้แก่ สีน้ำเงิน
ลักษณะของตราสัญลักษณ์ : เป็นรูปคบเพลิงซ้อนทับปืนใหญ่โบราณและปืนเล็กยาวไขว้ ซ้อนทับอยู่เหนือร่มชูชีพตามลำดับ รองรับด้วยช่อชัยพฤกษ์ โอบขึ้นทั้งสองข้าง ข้างละเก้าใบ ด้านบนมีดาวสองดวง ด้านล่างมีแถบปลายแฉกสะบัดขึ้นทั้งสองข้าง กลางแถบมีคำว่า "ศูนย์การทหารอากาศโยธิน"
ความหมาย : ช่อชัยพฤกษ์ หมายถึง ความมีเกียรติ ความสำเร็จ ความเจริญก้าวหน้าและความจงรักภักดี แสดงถึงความเป็นหน่วยทหารอากาศ
ปืนเล็กยาว หมายถึง ทหารอากาศโยธิน
ปืนใหญ่โบราณ หมายถึง ทหารต่อสู้อากาศยาน
ร่มชูชีพ หมายถึง ทหารส่งทางอากาศ (ปฏิบัติการพิเศษ)
คบเพลิง หมายถึง ความสว่าง ความรุ่งโรจน์ของปัญญาและความรู้
ดาวสองดวง หมายถึง ผู้บังคับการศูนย์การทหารอากาศโยธิน มีชั้นยศพลอากาศตรี
แถบมีข้อความ "ศูนย์การทหารอากาศโยธิน" แสดงชื่อหน่วย